ตราประจำมหาวิทยาลัย
- Download ตราประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏกาจนบุรี -
พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 เป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศ ประกอบด้วยวงจักร กลางวงจักร มีอักขระเป็นอุ หรือเลข 9 รอบวงจักรมีรัศมี เปล่งรัศมีออกโดยรอบ เหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตร 7 ชั้น ตั้งอยู่บน พระที่นั่งอัฐทิศ แปลความหมายว่า ทรงมีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน โดยที่วันบรมราชาภิเษก ตามโบราณราชประเพณีได้เสด็จประทับ เหนือพระที่นั่งอัฐทิศ สมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษกจากทิศทั้งแปด สีของสัญลักษณ์ตราประจำมหาวิทยาลัย มี 5 สี คือ
สีน้ำเงิน แทนค่า สถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ให้กำเนิด และพระราชทานนาม "มหาวิทยาลัยราชภัฏ"
สีเขียว แทนค่า แหล่งที่ตั้งของมหาวิทยาลัย 41 แห่ง ในแหล่งธรรมชาติและมีสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม
สีทอง แทนค่า ความเจริญรุ่งเรืองทางภูมิปัญญา
สีส้ม แทนค่า ความเจริญรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ก้าวไกลใน 41 มหาวิทยาลัย
สีขาว แทนค่า ความคิดอันบริสุทธิ์ของนักปราชญ์ แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
พระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
- พระพุทธโลกเชษฐ์กาญจนมงคลเขต -
ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
- ดอกคิ้วนาง หรือ ดอกอรพิม -
คติธรรม : ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
คือ "สุทนฺโต วต ทเมถ" แปลว่า "ฝึกตนดีแล้ว จึงฝึกผู้อื่น" อธิบายความได้ว่า บุคคลจะต้องฝึกอบรมตนเองให้มีความรู้เรื่องนั้นเป็นอย่างดี กล่าวคือ เป็นคนที่มีคุณภาพดี ซึ่งบุคคลที่มีคุณภาพดีนั้น จะประกอบด้วยคุณลักษณะ 3 ประการ คือ- มีความรู้ดี(รู้จริง รู้ลึก และรู้กว้าง)
- มีความประพฤติดี(ทำตนเป็นที่เชื่อถือได้ ไม่เป็นคนโลเล สับปลับ ฯลฯ)
- และมีความสามารถดี(ฝึกฝนอบรมตนให้ก้าวหน้าในหน้าที่การงานอยู่เสมอ ไม่หยุดอยู่กับที่ หรือถอยหลัง)
เมื่อฝึกตนให้มีคุณภาพดีแล้ว จึงควรนำความรู้ความสามารถนั้นมาฝึกอบรมสั่งสอนบุคคลอื่น ดังเช่น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงฝึกพระองค์เองมาแล้วเป็นอย่างดี จึงเป็นผู้สามารถฝึกบุคคลอื่นได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
สี : ประจำมหาวิทยาลัยใช้สี เหลืองทอง
อัตลักษณ์
“ มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่จิตสาธารณะ ”
อัตลักษณ์ : “มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่จิตสาธารณะ”
มีวินัย หมายถึง การมีเจตจำนงในการประพฤติปฏิบัติตนได้ตามกฎเกณฑ์ และข้อบังคับของสังคม มีความซื่อสัตย์ สุจริต มีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา มีความตั้งใจที่จะทำงาน ติดตามผลงานที่ได้กระทำรวมทั้งรู้จักเสียสละ มีความเห็นใจและเคารพสิทธิของผู้อื่น รวมทั้งการปฏิบัติตนได้ตามแบบแผน
ใฝ่เรียนรู้ หมายถึง การแสดงออกถึงความตั้งใจ เพียรพยายามในการเรียน การเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ การแสวงหาความรู้ทั้งจากแหล่งเรียนรู้ภายในและภายนอกอย่างสม่ำเสมอ รู้จักวิเคราะห์ สรุปเป็นองค์ความรู้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอด เผยแพร่ และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
จิตสาธารณะ หมายถึง ผู้มีจิตที่เป็นผู้ให้ คิดดี คิดสร้างสรรค์ บนพื้นฐานความตั้งใจดี และเจตนาดีและมุ่งกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และประเทศชาติ โดยการใช้หลักธรรม
เอกลักษณ์
“ แหล่งเรียนรู้ สู่การพัฒนาท้องถิ่น ”
เอกลักษณ์ : “ แหล่งเรียนรู้ สู่การพัฒนาท้องถิ่น ”
แหล่งเรียนรู้ หมายถึง แหล่งให้บริการความรู้ และแหล่งการบริการวิชาการที่สนับสนุนให้ผู้เรียนได้แสวงหาความรู้ และเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง ตลอดชีวิต เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและยกระดับคุณภาพชีวิตของท้องถิ่น
การพัฒนาท้องถิ่น หมายถึง การทำให้พื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยเจริญงอกงามขึ้น ทั้งนี้ การทำให้ท้องถิ่นเกิดการพัฒนาขึ้น มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นการพัฒนาท้องถิ่นโดยยึดตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย 4 ด้าน คือ ด้านการผลิตบัณฑิต ด้านการวิจัย ด้านการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเข้มแข็งของชุมชน
อ้างอิง:
กองนโยบายและแผน สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี. (2565).
แผนพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ระยะ 5 ปี พ.ศ.2565-2569. กาญจนบุรี: ผู้แต่ง.